ในประเทศอินเดีย มีภาพพุทธประวัติในหินสลักอยู่ประเภทหนึ่งซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นพุทธประวัติ “ชุดแรกที่สุดในโลก” และ “น่าสนใจที่สุด” หรือ “มีค่าที่สุดในโลก” ด้วย คือชุดที่ได้จำลองเอามาพิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้จำนวนหนึ่งนั่นเอง และเป็นภาพพุทธประวัติที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทยเรา
ที่ว่าเป็น “ครั้งแรกในโลก” นั้น หมายความว่า ก่อนหน้าพุทธประวัติชุดนี้ ยังไม่เคยมีใครที่ไหนได้ทำภาพพุทธประวัติขึ้น ไม่ว่าในประเทศไหนในโลก พุทธประวัติชุดที่กล่าวนี้ เริ่มทำขึ้นในประเทศอินเดีย ระหว่าง พ.ศ. ๓๐๐ เศษ ถึง พ.ศ. ๖๐๐ เศษ เป็นระยะเวลาสามร้อยปีเท่านั้น โดยเป็นภาพพุทธประวัติที่ไม่ยอมทำรูปพระพุทธองค์อยู่ยุคหนึ่ง หลังจาก พ.ศ. ๖๐๐ เศษเป็นต้นมาก็มีการทำภาพพุทธประวัติในยุคที่สอง คือมีรูปพระพุทธรูปและมีเรื่อยมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ก่อนหน้า พ.ศ. ๓๐๐ เศษขึ้นไปทางหลัง ก็ยังค้นไม่พบว่าได้มีการสลักภาพพุทธประวัติไว้ ณ ที่ใดเลย
ที่ว่า “น่าสนใจที่สุด” หรือ “มีค่าที่สุด” นั้น ก็เพราะมุ่งแสดงพระพุทธองค์ในทางนามธรรมยิ่งกว่ารูปธรรม แสดงความสูงในทางจิตใจของพุทธบริษัทแห่งยุคนั้น ยิ่งกว่าในยุคนี้ จึงไม่ทำรูปของพระพุทธองค์ในลักษณะที่เป็นรูปมนุษย์ ซึ่งเป็นการแสดงความเขลาและความขลาดออกมาในที่สุด แต่ได้แสดงด้วยสัญลักษณ์ ที่ทำขึ้นเฉพาะเหตุการณ์นั้น ๆ ในพระชนม์ชีพของพระองค์ อย่างมีความหมายลึก “ชนิดรูปที่รูปภาพคนแสดงเช่นนั้นทำไม่ได้”